วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

วัดเชียงมั่น



วัดเชียงมั่น
ตั้งอยู่ถนนราชภาคินัย ระหว่างเส้นทางไปวัดเชียงมั่น จะผ่านวัดดวงดี ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนวัดที่มีชื่อเป็นมงคลนาม อาทิ วัดดับภัย วัดดวงดี วัดลอยเคราะห์ วัดชัยมงคล วัดหมื่นล้าน วัดหมื่นเงินกอง เป็นต้น พระผู้ใหญ่บางรูปว่าการให้ความสำคัญกับวัดมงคลนามนั้นมีมานานแล้ว แต่เรื่องราวที่ชาวบ้านมุ่งมาขอพรหรือผู้ทำกิจกรรมต่างๆ แตกต่างกันระหว่างยุคก่อนกับยุคนี้ สมัยก่อนมักเป็นการทำบุญรับขวัญคนเจ็บไข้ได้ป่วย ขึ้นเรือนใหม่ แต่ปัจจุบันกลับเป็นเรื่องการเก็งกำไรค้าที่ดิน ซึ่งมักมาหาพระที่วัดดวงดี หรือวัดหมื่นล้าน หรือวัดเงินกอง ถ้าออกรถคันใหญ่ก็มักไปที่วัดดับภัย เป็นต้นวัดเชียงมั่นมีความสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่มาแสนนาน นับเป็นวัดหลวงวัดแรกที่พญามังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เป็นประทับของพระองค์ ดังปรากฏในศิลาจารึกที่หน้าพระอุโบสถวัดเชียงมั่น ที่จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2124 กล่าวถึงประวัติการสร้างเวียงเชียงใหม่และวัดเชียงมั่นว่าในปี พ.ศ. 1839 เมื่อพญามังรายทางสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้ก่อเจดีย์ตรงที่หอนอน บ้านเชียงมั่น ซึ่งพญามังรายใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวเมื่อคราวสร้างเมืองเชียงใหม่ เจดีย์ดังกล่าวนั้นก็คือ เจดีย์ช้างล้อม ซึ่งมีทั้งหมด 16 ตัว ว่ากันว่าช้างที่อยู่รายรอบฐานเจดีย์นั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการค้ำจุนพุทธศาสนาไว้ ส่วนสำคัญที่น่าสนใจภายในวัดนี้นอกจากเจดีย์แล้ว ก็คือวิหาร 2 หลังซึ่งตั้งอยู่คู่กัน วิหารหลังที่อยู่ประตูทางเข้าวัดนั้นหน้าบันหรือหน้าแหนบเป็นตัวอย่างหน้าแหนบลักษณะหน้าจั่วขนาดใหญ่ ที่พื้นผิวตกแต่งด้วยลายก้านขด ส่วนวิหารอีกหลังที่ตั้งอยู่ข้างกัน ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระเสตังคมณี หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปหินปางมารวิชัย ศิลปะสมัยทวารวดี ขนาดสูง 34 เซนติเมตร พระพุทธรูปองค์นี้พระนางจามเทวีวงศ์ทรงนำมาจากกรุงละโว้เมื่อคราวมาครอบหริภุญไชย เมื่อพญามังรายยึดครองเมืองหริภุญไชยได้แล้วก็สร้างเมืองเชียงใหม่ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น พระพุทธรูปองค์นี้จึงถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อมีงานพิธีกรรมสำคัญมักจะอัญเชิญเสด็จออกมาร่วมพิธีกรรมด้วย พระเจ้าอินทวิชยานนท์และแม่เจ้าทิพเกสรโปรดให้สร้างฐานบัลลังก์พระพุทธรูปด้วยไม้จันทร์หุ้มทองคำแผ่นปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ชำรุดผุกร่อน ในอดีตพระเสตังคมณีจะได้รับการอัญเชิญออกมาสรงน้ำทุกปีในงานตรุษสงกรานต์ ที่มาระงับไปในภายหลังก็เพราะฐานบัลลังก์ชำรุดในวิหารหลังเดียวกันนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งคือ พระพุทธรูปหินปางปราบช้างนาฬาคิรี ฝีมือช่างสกุลปาละ (พุทธศตวรรษที่ 13-17) พระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่กับพระเสตังคมณีมานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เชื่อกันว่า พญามังรายอัญเชิญมาจาก หริภุญไชยในคราวเดียวกับพระเสตังคมณี
ขอบคุณข้อมูลจากwww.deeday23.com/travel.php?group_id=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น